Toyota Tundra ที่ถูกจารึกว่าวิ่งถึง 1 ล้านไมล์ (ราว 1.6 ล้านกม.) โดยผู้ใช้ชาวสหรัฐฯ
Toyota Corolla ที่ถูกใช้งาน 998,000 กม. จากผู้ใช้ชาวแคนาดา

หลายคนอาจจะมองว่า รถส่วนใหญ่ในไลน์อัพของค่ายญี่ปุ่นชื่อดัง Toyota ค่อนข้างน่าเบื่อ เป็นรถที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้งานทั่วไป ไม่เร้าใจอะไรนัก

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่หลายคนยอมรับในความสุดยอดของ Toyota คือ พวกเขาสามารถสร้างรถที่คุ้มค่า “ทนทาน” มีอายุการใช้งานนานมาก เป็นจุดเด่นนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

และเรื่องความคุ้มค่าดังกล่าว ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Toyota คือค่ายรถอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบันด้านยอดขาย และด้านชื่อเสียงที่โด่งดังไปทั่วโลก

แต่ทำไมรถของ Toyota ถึงได้ทนทานขนาดที่ว่าวิ่งได้ถึงหลักแสน หรือหลักล้านกม. หรือล้านไมล์ (1.6 ล้านกม.) โดยไม่มีปัญหาหนักๆ หรือมีปัญหาน้อยกว่ารถแบรนด์อื่นกันล่ะ?

ด้วยความสงสัยนั้น เราจึงได้ค้นหาข้อมูลเบื้องหลัง และก็ได้พบกับ 3 ปัจจัย ที่ทำให้รถ Toyota ทนทาน ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้…

1. แนวคิดการสร้างรถแบบ “Jidoka”

Toyota นั้นจะมีระบบการผลิตที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองเรียกว่า Toyota Production System : TPS

และหนึ่งในหลักการหัวข้อใหญ่ๆ ใน TPS นั้นจะมีหลักการที่พูดถึงการจัดการเวลา ที่ทำให้รถถูกผลิตได้เร็วขึ้น และอีกหลังคือ Jidoka ที่ส่งผลให้รถของ Toyota มีความทนทาน


Jidoka แปลจากภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “ระบบอัตโนมัติที่มนุษย์เป็นผู้สัมผัส” ซึ่งหลักการของมันอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายเล็กน้อย

หลักการนี้คือการที่เหล่าวิศวกรของ Toyota ต้องเริ่ม “ทำด้วยมือ” ก่อน ทั้งการออกแบบชิ้นส่วนในรถ ที่ต้องออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะต้องผ่านมาตรฐานที่วางเอาไว้

และเมื่อนำมาใช้ร่วมกับชิ้นส่วนอื่น ก็ต้องแน่ใจว่ามันจะทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งก็ส่งผลให้รถมีความทนทานนั่นเอง

และตัววิศวกรผู้ออกแบบ ก็จะมีความเข้าใจในระดับสูงสุดถึงชิ้นส่วนต่างๆ ที่ตัวเองออกแบบขึ้นมาอีกด้วย

นั่นทำให้เราเห็น ได้ว่ารถของ Toyota มักจะใช้อะไหล่ร่วมกันได้หลายรุ่น รวมถึงมีรถหลายรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกัน เพราะพวกเขามั่นใจแล้วว่าเชื่อใจได้

(และส่งผลทำให้รถ Toyota อะไหล่หาได้ง่าย และในบางรุ่น รถจะมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่ารถรุ่นอื่น)

ในด้านการขึ้นสายการผลิตรถก็เช่นกัน คนคุมสายการผลิตจะต้องออกแบบโครงสร้าง และมาลงมือทำด้วยตัวเองก่อน จนมั่นใจแล้วว่ามันปลอดภัย และสามารถสร้างรถได้มีประสิทธิภาพที่สุด

ซึ่งต่อมาก็จะเป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาทำงานแทน ในสิ่งที่ถูกออกแบบไว้แล้ว ว่าหากทำตามนี้ รถก็จะถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีจุดติดขัด ตามความหมายของ Jidoka “ระบบอัตโนมัติที่มนุษย์เป็นผู้สัมผัส” นั่นเอง

2. ต่อยอด Jidoka ด้วยแนวคิด “Kaizen”
หลังจากรถขึ้นสายการผลิตด้วยแนวคิด Jidoka แล้ว แนวคิดต่อไปที่ถูกนำมาใช้คือ Kaizen ที่แปลว่า “พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง” และ “เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า”
แนวคิดนี้จะเปิดโอกาสให้พนักงานที่คุมสายการผลิต สามารถตัดสินใจหยุดสายการผลิตลงได้ หากพบปัญหาขึ้นระหว่างการผลิต
โดย Toyota จะปลูกฝังแนวคิดให้คนคุมสายการผลิตของพวกเขาเอาไว้ว่า การหยุดสายการผลิตไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
เพราะอะไร? เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือจะต้องหาทางแก้ไขไปถึงต้นตอให้ได้!!
นี่เป็นจุดที่ทำให้ Toyota ต่างจากค่ายรถอื่นๆ ที่บางครั้งต้องรีบทำยอดผลิตรถให้ตรงตามเส้นตายที่กำหนดเอาไว้ ส่งผลทำให้จำนวนของรถที่เกิดข้อบกพร่องหลุดออกไปในจำนวนมากกว่า
 
และเมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา
กาปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ของรถ Toyota จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยให้พนักงานนำเสนอความคิดใหม่ๆ เข้ามา และเอามาประชุมกัน ถ้าเห็นว่าได้ผลก็จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานเลย นี่จึงทำให้การผลิตพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ถึงแม้ว่าหลักการ Kaizen อาจจะต้องทำให้สายการผลิตหยุดและช้าลงในช่วงเวลานั้น แต่ประโยชน์ที่ได้กลับมาก็ส่งผลคุ้มค่าในระยะยาว
เช่น การลดโอกาสที่ต้องเรียกคืนรถทั้งล็อตมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผลิต
รวมถึงการได้ภาพลักษณ์ของบริษัทรถที่เชื่อใจได้เหมือนอย่างที่พวกเขาเป็นในปัจจุบัน
3. “การใช้งาน” มาก่อน “ความเร็ว” 
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า รถของ Toyota เน้นการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็ว (หรือกระทั่งความสวยงาม)เป็นปัจจัยที่รองลงมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากการทำตลาดในไทย ก็คือรถบ้านในพิกัด B-Segment อย่าง Yaris, Yaris ATIV เป็นรถที่ไม่ได้มีความหวือหวานัก
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Honda หรือ Nissan ทำตลาดด้วยรถเครื่องเทอร์โบจัดเต็ม
แต่รถ Toyota ก็ยังขายดีเป็นลำดับต้นๆ อยู่ตลอด นั่นเป็นเพราะลูกค้าหลายคนก็ไม่ได้ต้องการความหวือหวา แต่มั่นใจในชื่อของ Toyota
 
และไม่ใช่แค่รถบ้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงไลน์อัพรถสปอร์ตที่ขับสนุกชื่อดังในอดีต ทั้ง AE86, MR2 และ Celica ก็ไม่ได้เร็วแรงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
แม้แต่ Toyota Supra เจน 4 ที่มีภาพลักษณ์เร็วแรงที่สุดของ Toyota เอง ตอนออกมาจากโรงงาน ก็ไม่ใช่รถที่ทำประสิทธิภาพได้ดีนัก ตอนที่ออกมาจากโรงงานโดยยังไม่ผ่านการปรับแต่ง
รวมไปถึงรถหรูอย่าง Lexus  ที่ส่วนมากจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าแบรนด์หรูสัญชาติเยอรมนีอยู่บ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง
เพราะพวกเขารู้ว่า ลูกค้าส่วนมากที่ซื้อรถต้องการสิ่งที่ Toyota มอบให้ นั่นคือความทนทาน ไม่จุกจิก ไม่กวนใจ และมีค่าบำรุงรักษาที่ถูกกว่าแบรนด์อื่นๆ ในระยะยาวนั่นเอง
 
 
บทความนี้ ไม่ใช่การรับเงินโฆษณาจาก Toyota มาเพื่อเขียนบทความแต่อย่างใด แต่เพื่อตอบคำถามซึ่งค้างคาใจมาแสนนานว่า แม้รถบางรุ่นจะไม่ได้ดีเลิศ 100% แต่ทำไม Toyota ถึงมีชื่อเสียงด้านความทนทาน
และนี่ก็เป็นปัจจัยหลัก 3 ข้อ ที่ทีมงานลองสรุปออกมา และเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในธุรกิจยานยนต์เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกในปัจจุบันนั่นเองครับ…